วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส
โครงการบูรณะค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2552 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย คณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเิดิม และคณะกรรมการสมาคมฝรั่งเศส-ไทยเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณะค่ายตากสิน จังหวัดจันทบุรี

ประวัติศาสตร์ย่อเกี่ยวกับค่ายตากสิน
ตามอนุสัญญาข้อ 6 ในหนังสือสัญญาระหว่างกรุงฝรั่งเศส วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2426 ประเทศฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีและตราดไว้ และได้เลือกบริเวณบ้านลุ่ม (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี) เพื่อเป็นที่ตั้งกองทัพ อันมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของชายแดนไทยเขมร และควบคุมอ่าวสยามที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ จนกระทั่งถอนกำลังจากจันทบุรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2448อาคารทั้ง 8 หลัง ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของค่ายตากสินเมื่อปีพ.ศ.2532 สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมทหารฝรั่งเศส วัสดุก่อสร้างบางส่วนนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสอย่างกระเบื้องดินเผามุงหลังคาและอิฐจากมาร์เซยคณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเิดิม และคณะกรรมการสมาคมฝรั่งเศส-ไทยเพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการสนับสนุนจากบริษัทฝรั่งเศสใหญ่ๆ หลายบริษัทอย่าง Bouygues Thailand และ Thalès ได้เริ่มงานบูรณะสถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นประจักษ์พยานของประวัติศาสตร์ร่วมระหว่าง 2 ชาติ
โบราณสถานในค่ายตากสิน จันทบุรี
ค่ายตากสินจันทบุรี เป็นสถานที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน
อยู่ที่บริเวณบ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เมืองจันทบุรีโบราณที่บ้านลุ่ม มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีแล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ในร.ศ. ๑๑๒ หรือปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสซึ่งพยายามขยายอำนาจเข้าไปในลาวและเขมร ได้ใช้กำลังบังคับและยื่นคำขาดให้ไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอก ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยให้กับฝรั่งเศส ในระหว่างที่รอคอยให้สัญญาต่างๆ มีผลบังคับใช้ ฝรั่งเศสได้ทำการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนถึงปี
พ.ศ. ๒๔๔๘ เพื่อเป็นการปฎิบัติตามอนุสัญญาข้อ ๖ ซึ่งต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงฝรั่งเศส วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๖ (ร.ศ. ๑๑๒) แต่เหตุผลที่เลือกยึดเมืองจันทบุรีก็เพราะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์เป็นจุดที่ควบคุมอ่าวสยามที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ เป็นทางผ่านเข้าไปยังสามจังหวัดของไทยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดด้านทรัพยากรธรรมชาติซึ่งได้แก่ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในเขตเมืองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณนอกจากนั้นเมืองจันทบุรียังมีท่าเรือที่ปากแม่น้ำและมีอู่ต่อเรือระวางตั้งแต่ ๓๐๐-๔๐๐ ตัน การยึดจันทบุรีจึงเท่ากับยึดท่าเรือ อู่ต่อเรือ และเรืออื่นๆ ไว้เป็นการตัดกำลังไทยทางอ้อมด้วยกองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายทหารขึ้นภายในบริเวณบ้านลุ่มหรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบัน และที่ปากน้ำแหลมสิงห์ รวมทั้งได้สร้างสิ่งก่อสร้างอีกหลายหลัง ปัจจุบันหลักฐานร่องรอยต่างๆ ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองจันทบุรีที่บ้านลุ่ม ยังคงปรากฎเหลืออยู่ภายในบริเวณค่ายตากสินเท่านั้น อาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นได้แก่ อาคารกองรักษาการณ์อาคารตอนซ่อมบำรุงและสรรพาวุธ อาคารพัสดุ อาคารคลังแสงหมายเลข ๕ ซึ่งแต่เดิมคงเป็นคลังกระสุนดินดำเนื่องจากทำใต้ถุนโปร่งและมีช่องระบายลมอยู่ทั่วไป และอาคารคลังแสงหมายเลข ๗ ซึ่งมีแผนผังคล้ายกับตึกแดงที่ปากน้ำแหลมสิงห์ ซึ่งฝรั่งเศสได้สร้างขึ้นเช่นกันภายหลังจากที่ทหารฝรั่งเศสถอนออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘ บริเวณค่ายทหารที่ในบริเวณค่ายตากสินได้มีการใช้งานสืบต่อมาดังนี้
• พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นที่ตั้งของโรงประชาบาล และบ้านพักของข้าราชการฝ่ายปกครอง
• พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นที่ตั้งกองทหารม้า ม. พัน. ๔
• พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นที่ตั้งของพัน. นย. ๓ (กองพันทหารราบนาวิกโยธินที่ ๓)
• พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นที่ตั้งกองป้องกันพิเศษ จันทบุรี
• พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางราชการได้สั่งขยายกำลังกองป้องกันพิเศษ จากกำลัง ๑ กองร้อย เป็น ๑ กองพัน ชื่อว่าพัน.ร.๒
นย. ต่อมาได้แปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กรมผสมนาวิกโยธิน เมื่อ ๑๐ สิงหาคม
๒๕๒๑ และในปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธินหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๓๒กลุ่มอาคารโบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี ได้รับการบูรณะปรับปรุงและใช้งานมาตลอดแต่การบูรณะที่ผ่านๆ มาทำได้ในวงจำกัด เนื่องจากขาดงบประมาณและความรอบรู้ในการบูรณะโบราณสถานทำให้อาคารต่างๆ อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก อาคารเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในสมัยที่มีการล่าอาณานิคม ซึ่งการเสียดินแดนให้แก่ประเทศมหาอำนาจผู้แสวงหาเมืองขึ้น เป็นสิ่งที่หลืกเลี่ยงไม่ได้ แต่
การยอมเสียบางส่วนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการอยู่รอดของชาติไทยทั้งหมด ย่อมนับว่าเป็นผลดีแก่ชาติ และการที่เป็นไปได้ดังนั้นก็เนื่องมาจากพระปรีชาญาณในด้านรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งหมดต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ เพราะการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันในปีพ.ศ. ๒๔๔๕ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมและกรมศิลปากรได้ร่วมกันสำรวจเพื่อทำแผนบูรณะซึ่งผลของการสำรวจในครั้งนั้งพบปัญหาดังนี้
• ปัญหาความชื้น ทำให้ผนังอาคารแตกร้าว และปูนฉาบหลุดการรั่วซึมของหลังคา เนื่องจากวัสดุที่ใช้หมดสภาพ
• ปัญหาโครงสร้างทรุดตัว
• กรอบและบานประตูส่วนใหญ่หมดสภาพผุพัง และบางส่วนถูกเปลี่ยนสภาพเป็นรูปแบบใหม่ซึ่งไม่สอดคล้อง
กับยุคสมัยของอาคารต่อมาในปี ๒๕๕๑ คณะกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองทัพเรือ และกรมศิลปากรได้มีแนวคิดร่วมกันในการจัดโครงการบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ และได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโครงการฯ ณ ค่ายตากสินอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑สำหรับงบประมาณในการบูรณะทั้งหมดคาดว่าจะไม่น้อยกว่า ๕๐ ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการได้พยายามจัดกิจกรรมหารายได้ต่างๆ รวมทั้งรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และในการนี้ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายโลรองต์ บีลี่ ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ และได้กรุณาประสานกับคณะกรรมการฝรั่งเศส-ไทยตลอดจนตัวแทนของภาคเอกชนชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย อาทิเช่น บริษัท BOUYGUES THAI LTD., บริษัท THALESINTERNATIONAL (THAILAND) CO., LTD. ฯลฯ เพื่อให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ ทั้งในด้านเงินทุนและด้านเทคนิคในการอนุรักษ์โบราณสถานในค่ายตากสินแห่งนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในสมัยปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น