วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552


ตรวจ 'ลวดดัดฟัน' สารปนเปื้อนเยอะ

เลขาธิการ อย. เผยผลตรวจสอบ "ลวดดัดฟันแฟชั่น" พบสารปนเปื้อนหลายชนิดทั้งตะกั่ว โครเมียม สารหนู เตือนวัยโจ๋ดัดฟันในร้านที่ไม่ใช่คลินิกทันตกรรม ระวังติดเชื้อถึงขั้นไตวาย หรืออาจหลุดลงคอเป็นอันตรายถึงชีวิต เตรียมเสนอคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ ประกาศให้เป็นเครื่องมือแพทย์ ผู้ขาย ผู้ใช้ที่ไม่ใช่แพทย์มีโทษถึงจำคุก

จากเรื่องสลดใจที่นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนขามแก่นนคร อ.เมืองขอนแก่น ไปใส่เหล็กดัดฟันที่คลินิกเถื่อนแล้วติดเชื้อในกระแสเลือดจนไทรอยด์เป็นพิษ เป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งตำรวจได้จับกุมเจ้าของร้านที่รับใส่เหล็กดัดฟัน ดำเนินคดีฐานเปิดคลินิกโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวถึงพิษภัยของการใส่เหล็กดัดฟันแฟชั่นที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กวดขันธุรกิจจัดฟันแฟชั่นตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่น และกวดขันจับกุมคลินิกทำฟันเถื่อนนั้น

ความคืบหน้าการควบคุมลวดดัดฟันแฟชั่น เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 52 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีเด็กนักเรียนมัธยมติด เชื้อหลังจากที่จัดฟันแฟชั่นและเสียชีวิต ซึ่ง อย.จะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าลวดดัดฟันแฟชั่นจะจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ด้วยหรือไม่ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุ ประสงค์เพื่อการรักษา แต่ลวดสำหรับดัดฟันที่ใช้ด้านทันตกรรมประดิษฐ์โดยทันตแพทย์ เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามมาตรา 4 (1) ก แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว จึงต้องมีการตีความใหม่ และจะขอความเห็นจากทันตแพทยสภาเพื่อให้ควบคุมได้ และหากมีการควบคุมเป็นเครื่องมือแพทย์ บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จะไม่สามารถจำหน่ายได้ ทั้งนี้ การขายลวดดัดฟันแฟชั่นปัจจุบันก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่ อย.ได้ตรวจสอบลวดดัดฟันแฟชั่นแล้ว พบว่ามีสารปนเปื้อนหลายชนิด อาทิ ตะกั่ว พลวง ซิลิเนียม โครเมียม สารหนู และอื่นๆ หากสารเหล่านี้สะสมในร่างกายในปริมาณมากจะก่อให้เกิดผลต่อไตทำให้ไตวายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การใส่ลวดดัดฟันเองโดยไม่มีทันตแพทย์แนะนำวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียด้านสุขอนามัยของฟัน หรืออวัยวะในช่องปากตามมาอีก ประกอบกับลวดที่เป็นอุปกรณ์ยึดเกาะกับฟันเป็นลวดที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ มีโอกาสหลุดลงคอเป็นอันตรายแก่ผู้สวมลวดดัดฟันจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

นพ.พงศ์พันธ์กล่าวว่า หากเป็นลวดดัดฟันที่ใช้ ด้านทันตกรรมประดิษฐ์โดยทันตแพทย์ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ การ นำมาจำหน่ายในประเทศต้องมีหนังสือรับรองการขาย หนังสือรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการ ผลิต (GMP) อย่างไรก็ตาม ลวดดัดฟันจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไปที่ต้องขออนุญาตนำเข้าจาก อย. และต้องมีมาตรฐานตามกำหนด หากลักลอบผลิตหรือนำเข้าโดยไม่ ได้รับอนุญาตจาก อย. ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิดใน 2 กรณี คือกรณีไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีการนำเข้าโดยไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวย้ำว่า อยากขอเตือนวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่นิยมการดัดฟันตามแฟชั่น อย่าหลงเชื่อร้านดัดฟันแฟชั่นที่เปิดให้บริการเกลื่อนอยู่ในขณะนี้ เพราะจากการตรวจสอบพบว่าร้านจัดฟันแฟชั่นเหล่านี้ผู้ที่ให้บริการมิใช่ทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้มักไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นลวดที่ใช้ในการดัดฟัน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลวดสเตนเลส หรือเป็นลวดที่ร้อยดอกไม้ และบางร้านมีการใส่ลูกปัดหลากสี พลาสติกยาง หรือกากเพชร ซึ่งมีสารปลอมปนไม่ปลอดภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น